บริการสืบค้น

Custom Search

หลักเมืองสุรินทร์

เป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่นับถือคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร เดิมเป็นเพียงศาลไม่มีเสาหลักเมือง มีมานานกว่าร้อยปี เมื่อปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลหลักเมืองใหม่ เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์มาจากนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเสาไม้สูง 3 เมตร วัดโดยรอบเสาได้ 1 เมตร ทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2517 

ห้วยเสนง

เป็นอ่างเก็บน้ำของโครงการชลประทาน อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 แยกซ้ายมือไปทางถนนริมคลองชลประทาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ห้วยเสนงนี้เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสันเขื่อนสูง บนสันเขื่อนเป็นถนนลาดยาง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสุรินทร์ และภายในที่ทำการชลประทานมีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านจันรม

ตั้งอยู่ที่ตำบลตาอ็อง ทางตะวันออกของตัวเมือง ตามทางสายสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข 2077) ประมาณ กม.ที่ 12 ที่หมู่บ้านจันรมมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันเองแล้วนำมาทอเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายและสีแบบโบราณ 

หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทอง จันทร์โสมา

บ้านท่าสว่าง หมู่บ้านที่ได้รับการยกย่องว่า"ทอผ้าไหมหนึ่งพันสี่ร้อยสิบหกตะกอ" เมื่อครั้งทอผ้ายกทองทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จากการริเริ่มผลงานศิลปหัตกรรมของกลุ่มทอผ้ายกทอง"จันทร์โสมา" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยมี อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นแกนนำและเป็นผู้รวบรวมชาวบ้านท่าสว่างมารวมกลุ่มกันทำงานทอผ้ายามว่างจากงานไร่งานนา ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อนงดงามและศักดิ์สิทธิ์ผสมผสานกันระหว่างลวดลายการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานที่โดดเด่นของที่นี่คือการได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้ทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผู้นำและผ้าคลุมไหล่สำหรับคู่สมรสผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปกเมื่อปลายปี 2546 จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในชื่อ"หมู่บ้านทอผ้าเอเปก"และรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว ของประเทศ ความโดดเด่นของผ้าไหมยกทอง "จันทร์โสมา" เกิดจากการเลือกเส้นไหมน้อยที่เล็กและบางเบานำมาผ่านกรรมวิธีฟอก ต้มแล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลักสามสีคือสีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแลและสีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทองที่ทำจากเงินแท้มารีดเป็นเส้นเล็กๆปั่นควบกับเส้นด้าย ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวนตะกอมากกว่าร้อยตะกอ จนกระทั่งการวางกี่บนพื้นดินธรรมดามีความสูงไม่พอ ต้องขุดดินบริเวณนั้นให้เป็นหลุมลึกไป2-3 เมตร เพื่อรองรับความยาวของตะกอที่ห้อยลงมาจากกี่ให้เป็นระเบียบ ให้คนสามารถอยู่ในหลุมเพื่อสอดตะกอไม้ได้ด้วย เนื่องจากไม้ตะกอมีจำนวนมาก จึงต้องใช้คนทอถึง 4-5 คน คือจะมีคนช่วยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คนและคนทออีก 1 คน และความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ จะได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 เซนติเมตรเท่านั้น


หมู่บ้านจักสานบ้านบุทม

ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองที อำเภอเมือง การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 226 จากตัวเมืองไปทางอำเภอศรีขรภูมิประมาณ 12 กิโลเมตร ในช่วงนอกฤดูทำนาชาวบ้านจะมีอาชีพพิเศษด้วยการสานตะกร้าและภาชนะต่าง ๆ ที่ทำจากหวายเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ และเป็นของที่ระลึกเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว